มีความเสี่ยงอะไรบ้าง?

04 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที
​​​

ความเสี่ยงของประเทศที่ไปลงทุน (country risk) ความเสี่ยงประเภทนี้จะขึ้นอยู่กับว่าไปลงทุนในภูมิภาคหรือประเทศใด และมีความเสี่ยงด้านภาวะเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมเป็นอย่างไร โดยดูข้อมูลง่ายๆ ได้จากอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (country rating) ที่ไปลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนควรต้องคอยติดตามข้อมูลอันดับความน่าเชื่อถือ รวมทั้งสถานการณ์ข่าวสารทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคงของภูมิภาคหรือประเทศนั้นๆ อย่างสม่ำเสมอด้วย หากเกิดเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลขึ้น ก็จะช่วยให้เราปรับแผนการลงทุนของตนเองได้ทัน

 
ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน (foreign exchange risk) เป็นความเสี่ยงที่เมื่อมีการนำเงินไปลงทุนในสินค้าทางการเงินในต่างประเทศ จึงต้องเปลี่ยนเม็ดเงินลงทุนจากสกุลเงินบาทไปเป็นสกุลอื่นๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือยูโร (ขาออก: เพื่อนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ) และเมื่อได้รับผลตอบแทนกลับมาก็ต้องเปลี่ยนค่าเงินสกุลอื่นๆ กลับมาเป็นสกุลเงินบาท (ขาเข้า: เพื่อนำเงินมาจ่ายคืนให้ผู้ถือหน่วยลงทุน) ดังนั้น หากเงินสกุลต่างประเทศมีการเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาท ก็จะส่งผลต่อผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับสำหรับความเสี่ยงในเรื่องนี้ กรณีของการลงทุนกับกองทุนรวม FIF อาจมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินสกุลต่างประเทศนั้น (hedging) เพื่อช่วยลดปัญหาความผันผวนของค่าเงินที่จะมากระทบต่อผลตอบแทน ซึ่งปกติแล้วในกรณีที่มีการลงทุนผ่านกองทุนรวม FIF บลจ. จะกำหนดนโยบายการทำ hedging โดยอาจเลือกทำ hedging ทั้งจำนวน (100%) หรือทำแค่เพียงบางส่วน/บางช่วงเวลาก็ได้ เช่น อาจเลือกทำเพียง 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value: NAV) เป็นต้น หรือเลือกไม่ทำ hedging ก็ได้ โดยจะต้องระบุเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนในหนังสือชี้ชวน ซึ่งหากผู้ลงทุนไม่อยากรับความเสี่ยงในเรื่องนี้ ก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวม FIF ที่มีการทำ hedging ทั้งจำนวน 100%

 
ความเสี่ยงจากสินค้าทางการเงินประเภทต่างๆ ที่ไปลงทุน เช่น หากไปลงทุนในตราสารหนี้ ผู้ลงทุนก็ควรพิจารณาด้วยว่าเป็นตราสารหนี้ที่รัฐบาลหรือเอกชนเป็นผู้ออก เพราะหากเป็นตราสารหนี้ภาคเอกชนก็จะมีความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารหนี้อาจไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ (credit risk) ซึ่งความเสี่ยงจะสูงกว่าตราสารหนี้ของรัฐบาล หรือหากเป็นกองทุนรวม FIF ที่ลงทุนในสินค้าทางการเงินที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (structured notes) ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรต่างๆ เช่น ราคาทองคำ ราคาน้ำมันดิบ ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หรือดัชนีราคาหลักทรัพย์ ก็จะมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้ราคาของตัวแปรอ้างอิงเหล่านี้มีความผันผวนและคาดเดาได้ยากเพิ่มมากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของผู้ลงทุนได้ทั้งทางบวกและลบ



อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง